ลดน้ำหนัก ต่างกับลดไขมันอย่างไร?
พูดถึงการลดน้ำหนัก แล้วเชื่อว่าต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่โฟกัสผิดจุด สนใจแต่แต่ตัวเลขบนตาช่าง แล้วก็ใช้วิธีลดน้ำหนักแบบผิดๆ อย่างการอดอาหารหรือโหมออกกำลังกายมากเกินไป บอกเลยว่าในระยะยาวการลดแบบนี้เสียสุขภาพและยังเสี่ยงโยโย่ที่จะกลับมาอ้วนอีกต่างหาก รีบเปลี่ยนด่วน! หันมาโฟกัสให้ถูกและลดปริมาณไขมันในร่างกายกันเถอะ!
ลดน้ำหนักแบบที่สนใจแต่เลขบนตาชั่ง
การควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่การโฟกัสอยู่แต่ตัวเลขของน้ำหนักบนตาชั่งไม่ใช่การลดน้ำหนักที่ดีเลย เพราะจริงๆ แล้วน้ำหนักของเราประกอบไปด้วยมวลน้ำหนักของโครงสร้างกระดูก อวัยวะภายใน องค์ประกอบในร่างกายที่เป็นน้ำ กล้ามเนื้อ ไขมัน และองค์ประกอบอื่นๆ อย่างอาหารในกระเพาะ เป็นต้น ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ผิดวิธีสิ่งที่หายไปอาจไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นมวลกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกาย เรียกว่าผอมลงจริง แต่รูปร่างไม่เฟิร์ม แถมเสียสุขภาพด้วย ซึ่งวิธีผิดๆ ที่หลายคนชอบทำกัน ยกตัวอย่างเช่น
- อดอาหาร การอดอาหาร หรือทานแต่ผลไม้อย่างเดียว ทำให้ร่างกายเสียสมดุลสารอาหาร อาจส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย โทรม
- ชั่งน้ำหนักทุกวัน การลดน้ำหนักที่ถูกวิธี ต้องค่อยเป็นค่อยไป ใจเย็นๆ ให้เวลากับมันหน่อย และสิ่งที่เราควรโฟกัสไม่ใช่การลดน้ำหนักตัว และตัวเลขบนตาชั่ง แต่เป็นการลดไขมัน ในร่างกายต่างหากซึ่งบางครั้งมันอาจจะเห็นผลได้ช้ากว่า หรือน้ำหนักอาจจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง แต่ร่างกายเราจะมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น แทนสัดส่วนของไขมัน ทำให้ได้รูปร่างที่กระชับ และได้สุขภาพที่ดี
- หักโหมออกกำลังกาย การโหมออกกำลังกายหนักๆ ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะทำให้อ่อนเพลียและโทรมแล้ว การออกกำลังกายโดยไม่วางแผน หรือศึกษาข้อมูลให้ดี ยังเพิ่มโอกาสบาดเจ็บให้เราได้อีกด้วย และพอผ่านไปนานๆ ร่างกายอาจเกิดอาการโหย และหิวโซ ซึ่งจะกระตุ้นให้เรากลับมากินเยอะกว่าเดิม กลายเป็นโยโย่ไปอีก
ความจริงแล้วสิ่งที่เราควรโฟกัสในการลดความอ้วน คือ การลดปริมาณไขมันในร่างกาย ไม่ใช่การมุ่งแต่จะเอาน้ำหนักออกให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะทำร้ายหุ่นแล้ว ไขมันส่วนเกินยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ข้อเสื่อม โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ดังนั้นเราควรเน้นการควบคุมอาหารในสัดส่วนที่พอดี ควบคู่กับการออกกำลังกายที่พอเหมาะ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อแทนที่ไขมัน ยิ่งมีมวลกล้ามเนื้อมากยิ่งทำให้กระบวนการเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลวิภาวดี