Trends&Update
วิธีเช็คเบื้องต้น กลุ่มไหนเสี่ยงจากไทม์ไลน์โควิด 19
ไทม์ไลน์หนึ่งในสิ่งที่หลายคนตั้งตารออัพเดตกันทุกวัน ไม่รู้ว่าแจ็กพอตจะไปแตกตรงไหนบ้าง (เป็นแจ็กพอตที่ไม่อยากได้ด้วยนะ) แต่หลายคนยังคงกังวลว่าหากตามไทม์ไลน์มีสถานที่ที่เราเคยไปหรือใช้บริการร่วมกับผู้ติดเชื้อจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสี่ยงแค่ไหน
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือกลุ่มที่คลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรง
แน่นอนว่าหลังเปิดไทม์ไลน์มาแล้ว กลุ่มที่จะถือว่าเป็นสัมผัสเสี่ยงสูงเลยคือผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน รวมถึงผู้ที่คลุกคลีกับผู้ป่วยใกล้ชิดชัดเจน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย กลุ่มนี้แม้ไม่มีอาการ ทางกรมควบคุมโรคก็ถือว่าต้องเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อเช่นกัน
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อมา คือกลุ่มที่โดนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง อย่าง ผู้ที่ถูกผู้ป่วยไอจามใส่ มีการพูดคุยในระยะ 1 เมตรเกิน 5 นาที หรืออยู่ในสถานที่ปิดแออัดกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรเกิน 15 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย กลุ่มนี้ทางกรมควบคุมโรคก็ถือเป็นผู้เสี่ยงสูง ควรกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อ ยิ่งหากเมื่อรู้สึกมีอาการ แต่ในขณะเดียวกันหากสวมหน้ากากอนามัยตลอด โอกาสเสี่ยงก็ลดลงตามนั่นเอง
ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ก็ควรกักตัว และตรวจเชื้อเมื่อมีอาการ
ตามข้อมูลของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอกสารออนไลน์ทางกรมควบคุมโรค ได้แบ่งกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดไว้ตามข้อสรุปต่างๆ ดังนี้
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานที่พักเดียวกัน เช่น หอพัก คอนโด เพราะมีโอกาสที่กลุ่มนี้อาจใช้ส่วนกลางร่วมกัน
- ผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียน พนักงานบริการที่พบปะ ซึ่งกลุ่มนี้จะยิ่งเสี่ยงลดลงหากสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และดูแลความสะอาดตามคำแนะนำกรมควบคุมโรค
- ผู้ท่องเที่ยวร่วมกลุ่ม โดยกลุ่มนี้หากมีอาการก็ควรตรวจหาเชื้อ เพราะมีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน
- ใช้บริการรถสาธารณะเดียวกัน
- รถตู้หรือรถทัวร์คันเดียวกัน เนื่องจากรถตู้เป็นสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทน้อย
- อยู่ในบริเวณห้องรถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟขบวนเดียวกัน เป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- ผู้โดยสารแถวเดียวกัน +2 แถวหน้า+ 2 แถวหลัง ถัดจากผู้ติดเชื้อ รวมถึงพนักงานบนเครื่องบินที่ให้บริการในโซนผู้ป่วย
- นั่งหันหน้าในระยะ 2 เมตรเข้าหาผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 15 นาทีขึ้นไป
ซึ่งผู้สัมผัสใกล้ชิดในกลุ่มนี้ หากมีอาการ ทางกรมควบคุมจะจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง แน่นอนว่าควรเก็บตัวอย่างหาเชื้อตามกระบวนการต่อไป
นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น เช่น การไปสถานที่เดียวกันแต่ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หรือไม่ได้สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ ยังถือว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการเข้าข่ายให้พบแพทย์ด่วน (เปอร์เซนต์อาการของผู้ป่วยโควิด 19 ที่มักแสดงอาการ CLICK)
จากไทม์ไลน์ระยะไหนที่ผู้ใกล้ชิดจะยิ่งเสี่ยงมากในการถูกแพร่เชื้อ
หากดูจากระยะฝักตัวนั้นอย่างที่ทราบกันดี คือราวๆ 1-14 วัน จึงทำให้ปรากฏไทม์ไลน์ย้อนไปกว่า 2 สัปดาห์เพื่อเป็นข้อมูลการหาต้นตอของเชื้อ
แต่จากข้อมูลตามระยะเวลาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน พบว่าระยะการแพร่เชื้อสูง จะนับจาก 2 วันก่อนเริ่มมีอาการป่วยจนถึงช่วงมีอาการ และอีก 2 วันหลังจากไม่มีอาการป่วย เพราะการแพร่เชื้อส่วนมากเกิดขึ้นเมื่อแสดงอาการแล้ว ทั้งนี้การประมาณสัดส่วนของการแพร่เชื้ออาจต่างกันออกไปได้หากมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่าบางครั้งอัตราความเสี่ยงอาจจะลดลงได้หากเราดูแลตัวเองอย่างดี เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องพบปะผู้คน ล้างมือให้สะอาด เวลาอยู่ในที่สาธารณะพยายามหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งของให้น้อย เลี่ยงการสัมผัสส่วนต่างๆ บนใบหน้าบ่อย และเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เป็นต้น
Credit Source: hfocus.org, ddc.moph.go.th, bangkokbiznews, chula.ac.th, ddc.moph viralpneumonia, who
ABOUT THE AUTHOR Beauty See First administrator