Reviewเปิดความ(ไม่)ลับ กับวิธีดูส่วนผสมหลังกล่องครีม

เปิดความ(ไม่)ลับ กับวิธีดูส่วนผสมหลังกล่องครีม

93-4896388

หลังกล่องสกินแคร์หรือฉลากในกล่องสกินแคร์มีความสำคัญกว่าแค่บอกข้อมูลเท่านั้น แต่เราต้องดูให้เป็นเพื่อการเลือกใช้ให้ตรงผิว ช่วยลดปัญหาผิวได้ และยังช่วยลดเสี่ยงการเกิดอาการแพ้ หากมีพวกสารแปลกปลอมอื่นๆ ทั้งนี้ยังช่วยดูได้คร่าวๆ ว่าส่วนผสมนั้นจะช่วยผิวเราได้มากหรือน้อยตามคำเคลมของสกินแคร์นั้นๆ หรือไม่?

บางกล่องมีส่วนผสม 2 ช่อง

Active ingredients เป็นสารออกฤทธิ์หลัก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยพวกตัวยาเป็นส่วนผสมหลัก อย่างเช่นครีมกันแดด ที่ต้องอาศัยตัวยาเข้าไปช่วยออกฤทธิ์ในการป้องกันการไหม้ของผิว เป็นต้น ซึ่งหากเราใช้สกินแคร์ตัวนี้ ตัวยาตัวนี้แหละจะมีส่วนสำคัญ หรือที่เรียกว่า สารออกฤทธิ์หลักที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในการบำรุงนั้นๆ

อย่างตัวนี้มีสารออกฤทธิ์หลัก Zinc Oxide 13% เพื่อช่วยป้องกันผิวไหม้ได้

Inactive ingredients เป็นสารประกอบอื่นๆ ที่ทำให้รวมเป็นคุณสมบัติของสกินแคร์ ไม่มีไม่ได้ เพื่อทำให้เกิดเป็นเนื้อสัมผัสแบบที่ทางแบรนด์ต้องการ รวมถึงบางครั้งจะใส่ส่วนผสมอื่นๆ ช่วยบำรุงก็จะอยู่ในกลุ่มนี้

ถ้าให้มองง่ายๆ อย่างเช่น การที่เราจะทำเมนูแฮมเบอร์เกอร์ไก่ ส่วนผสมหลักแน่นอนมันต้องมีไก่ ซึ่งนั่นแหละจะคล้ายกับ Active ingredients ส่วนตัวขนมปัง ผัก ซอสต่าง ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้รูปร่างหน้าตามันเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ก็เทียบได้กับตัว Inactive ingredients ของตัวสกินแคร์หนึ่งตัวนั่นเอง

ทั้งนี้ก็มีหลายๆ แบรนด์ที่ไม่มีแยกแบบนี้ แต่จะเขียนอยู่ในส่วน Ingredients ปกติ

ไล่ลำดับความเข้มข้นของส่วนผสมสกินแคร์

ส่วนผสม 5 ชื่อแรก (บางคนแนะนำว่า 6 ชื่อแรก) จะเรียงตามความเข้มข้นมากไปน้อย นั่นหมายความว่า ชื่อแรกที่ขึ้นอยู่ในรายชื่อส่วนผสมจะมีปริมาณความเข้มข้นมากสุดในการประกอบเป็นสกินแคร์ชิ้นนี้ และจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วย water ซึ่งก็ไม่แปลกอ่ะนะ เพราะมิเช่นนั้นครีมมันคงข้นมากหรือผสมมาเป็นตัวครีมที่ใช้งานได้ยาก และบางส่วนผสมก็ไม่จำเป็นต้องใส่เข้มข้นอีกด้วย

ส่วนลำดับถัดๆ ไปก็จะเป็นส่วนผสมเข้มข้นรองลงมา เราก็จะเช็คได้ง่ายขึ้นว่าส่วนผสมที่บอกมีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติที่เคลมไว้หรือไม่ ยกตัวอย่าง สกินแคร์ที่บอกว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นเพราะมีส่วนผสมของอะโลเวร่า แต่พออ่านส่วนผสมหลังกล่อง ในรายชื่อลำดับแรกๆ กลับยังไม่เห็นส่วนผสมไหนที่ดูมีตัวอะโลเวร่าเลย แต่ดันเห็นชื่อท้ายๆ ก็เป็นไปได้ว่าตัวนี้อาจจะมีความชุ่มชื้นบ้าง แต่ในปริมาณความเข้มข้นที่น้อยมาก จึงอาจไม่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในผิวบางคนนั่นเอง

ส่วนผสมน้อยกว่า 1% จะอยู่ชื่อท้ายๆ

อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า ส่วนผสมที่เข้มข้นจะอยู่ลำดับที่ 1-6 ทั่วไปจะไม่เกินนี้ ในขณะเดียวกันตัวที่มีส่วนผสมน้อยกว่า 1% ก็จะต้องไปอยู่ลำดับท้ายๆ เป็นการระบุแบบสุ่มไม่เรียง และไม่สามารถระบุได้ว่าตัวที่มีน้อยกว่า 1% เริ่มตั้งแต่รายชื่อที่เท่าไร นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้อีกว่า บางแบรนด์อาจไม่ระบุหลังกล่องมาให้เลย

ทั้งนี้หากมีตัวที่เราแพ้อยู้ท้ายๆ เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีความเข้มข้นน้อยมากๆ อาจจะน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำ แถมยังมีส่วนผสมลำดับต้นๆ ที่มีคุณสมบัติการบำรุง ช่วยแก้ปัญหาผิวหน้าได้ จะเลือกใช้ตัวนี้ดีไหม?

บอกเลยว่าคำถามนี้ตอบยากมาก แม้แต่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญก็ตอบได้ยากเช่นกัน เพราะความเซนซิทีฟในผิวแต่ละคนต่างกัน

แต่เราก็มีวิธีแนะนำเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเลือกใช้มากขึ้น เช่น การเช็คส่วนผสมในเวบไซต์ที่สามารถเช็คได้ฟรี อย่างเวบ skincarisma ที่เราเคยเขียนถึง CLICK หรือถ้าใครหาหมอผิวหนังอยู่แล้ว ลองถ่ายหลังฉลากให้หมอช่วยวิเคราะห์เบื้องต้น หรือทำ patch test ทดสอบสารที่แพ้ในแต่ละบุคคล กรณีนี้ก็จะบอกระดับความแพ้มากน้อยได้เลย

หรือถ้าวิธีบ้านๆ เลยคือการลองใช้จริง เพราะบางคนอาจจะแพ้ โดยที่ไม่รู้ว่าแพ้ก็เป็นไปได้ จึงต้องมั่นสังเกตผิวหลังใช้ และหากมีความผิดปกติอย่าง มีผื่นแดง คันยุบยิบ มีแห้งลอก แนะนำให้หยุดใช้สกินแคร์ชิ้นนั้นๆ และหากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาแพทย์ผิวหนังนะจ๊ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาใหม่ล่าสุด

More article