ไซนัส VS ไมเกรน ปวดหัวแบบนี้เป็นอาการไหน?
อาการปวดหัวนั้นมีความซับซ้อนและมีหลายรูปแบบ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ปวดหัวจากความเครียด ปวดหัวเพราะไม่สบาย รวมไปถึงอาการปวดหัวยอดฮิต อย่างไมเกรน และไซนัส ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่เรามักจะแยกแยะไม่ค่อยออก ดังนั้นเพื่อที่จะได้รักษาให้ตรงจุด เราควรรู้ว่าเรามีอาการปวดหัวแบบไหน เป็นไซนัสหรือไมเกรน แล้วอาการปวดหัว 2 แบบนี้ต่างกันยังไง แอดมีคำตอบเตรียมไว้ให้แล้วค่ะ
ปวดหัวแบบไซนัส
อาการปวดหัวแบบนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคไซนัสอักเสบ โดยการติดเชื้อ ไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งอาการปวดหัวมักจะมาพร้อมกับอาการไม่สบาย มีไข้ มีเสมหะและจะมีอาการปวดบริเวณ รอบๆ ใบหน้า หน้าผาก แหนือคิ้ว สันจมูก รวมไปถึงโหนกแก้ม และแน่นอนว่าอาการร่วมส่วนใหญ่ ก็จะมีตั้งแต่ คัดจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง หายใจมีกลิ่นเหม็น เสมหะข้นไหลลงคอ ไอบ่อย บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้สูง ตาบวมอักเสบได้ นอกจานี้ยังมีโอกาสมีอาการปวดหัว หรืออาการแย่ลงในตอนเช้าได้ ส่วนใหญ่แล้ว การปวดหัวแบบไซนัส มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่เสมอ
ปวดหัวแบบไมเกรน
ถ้าหากคุณมีอาการปวดหัวแบบข้างเดียวแล้วล่ะก็ แสดงว่าคุณกำลังเจอกับอาการปวดหัวแบบไมเกรน ซึ่งจะมีลักษณะอาการปวดหัวตุบๆ ที่ขมับ และมีการปวดหัวแบบครึ่งซีก จะเป็นครึ่งใดก็ได้ ซ้ายหรือขวา สลับกันไป โดยมีอาการปวดหัวที่ค่อนข้างรุนแรง ปวดหัวจนแบบไม่สามารถทำอะไรได้ และยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง สาเหตุของการปวดหัวไมเกรนนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งจะไม่มีตัวเชื้อแบบปวดหัวไซนัส แต่ก็มีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการปวดหัวได้ อย่างความเครียด เจอแสงจ้าเกินไป ได้ยินเสียงดัง ได้รับกลิ่นที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเฉียบพลัน การนอนไม่เพียงพอ หรือนอนมากเกินไป การอดอาหาร หรือ กินอาหารบางอย่าง ในส่วนของระยะเวลาการปวด อาการปวดมักจะเกิดขึ้นเป็นชั่วโมง หรือไปจนถึงหลายวันโดยหลักการในการสังเกตอาการนั้น ให้ลองเช็กดูก่อนว่า อาการปวดหัวที่กำลังเผชิญนั้น ทำให้คุณดําเนินชีวิตไม่ได้ เช่น ไปทำงานหรือเรียนไม่ได้ มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม หรือเปล่า นอกจากนี้ อาการปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงหรือเสียงไหม ถ้าคุณมีอาการ 2 ใน 3 ที่กล่าวมา ถือว่า 90% เป็นอาการปวดจากไมเกรน
วิธีการรักษาและดูแลตัวเองเบื้องต้น
ไซนัส ถ้ารู้ว่าปวดหัวเกิดจากไซนัสแล้ว สิ่งแรกคือการพบแพทย์ แล้วกินยาฆ่าเชื้อ เพื่อกำจัดเชื้อ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรัง และต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ไมเกรน ปัจจุบันการปวดศีรษะไมเกรนยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็จะมียาที่สามารถใช้ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนได้ นอกจากนี้ควรจะ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนพักผ่อนในที่มืดและเงียบสงบ ปรับพฤติกรรมการนอน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปวดหัวไมเกรนด้วย