ยิ่งกิน ยิ่งเครียด! 5 อาหารและเครื่องดื่มชวนเครียด
ปกติเวลาเราเครียด เราก็มักจะชอบกินนั่นนู่นนี่เพื่อแก้เครียด แต่รู้หรือไม่ อาหารบางชนิดนั้น ถ้ากินเข้าไปเยอะๆ ก็อาจะทำให้เครียดขึ้นกว่าเดิม เพราะอาหารบางชนิดจะส่งผลต่อการหลั่งของคอร์ติซอล ซึ่งเมื่อคอร์ติซอลหลั่ง เราจะรู้สึกตื่นตัว รู้สึกเครียด กังวล ตื่นตระหนก มีอาการหัวใจเต้นแรง หรืออาหารบางชนิดก็ส่งผลอ้อมๆ ต่อระบบของร่างกาย ดังนั้นถ้าไม่อยากเครียดไปมากกว่าเดิม ก็ต้องลดปริมาณลงบ้าง หรือปรับบาลานซ์การกิน ดังนั้นมาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าอาหารที่ชวนให้เครียดได้มีอะไรบ้าง
ทำไมถึงเครียดได้?
ความเครียดเกิดขึ้นจากการหลั่งของ คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต เป็นฮอร์โมนซึ่งจำเป็นต่อระบบการใช้พลังงานของร่างกาย ลดการอักเสบ รักษาระดับความดันโลหิต รวมทั้งระดับน้ำตาลในเลือด แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณที่มากเกินไปก็ส่งผลร้ายต่อร่างกายและอารมณ์
คาเฟอีน
กาแฟ ถือเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตอันดับต้นๆ เวลาง่วงๆ คิดงานไม่ออก หรือเครียด อย่างน้อยต้องดื่มกาแฟสักแก้วในหนึ่งวัน นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ในหนึ่งวันคุณดื่มกาแฟถึง 3-4 แก้ว หรือมากกว่านั้น เตรียมเครียดได้เลย เพราะ กาเฟอีนจะเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาของร่างกายมากกว่าเดิม ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูง และยังส่งผลทำให้ระดับคอร์ติซอลพุ่งพรวดได้ แต่สำหรับคนที่ดื่มกาเฟอีนอยู่เป็นประจำ ก็อาจมีการตอบสนองต่อคอร์ติซอลลดลง ซึ่งนอกจากกาแฟแล้ว น้ำอัดลม เครื่องดื่ม ชูกำลังก็มีคาเฟอีนสูงอยู่เหมือนกันนะ ดังนั้นอย่าดื่มเยอะล่ะ
อาหารกระป๋อง
ถึงแม้ว่าอาหารกระป๋องจะสะดวกและรวดเร็ว มีราคาที่ไม่แพง แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากจะมีโซเดียมที่สูงแล้ว กระป๋องที่ใช้สารอาหารนั้น ยังมี Bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอาหารกระป๋อง และภาชนะพลาสติก ซึ่งสามารถกำจัดสารสื่อประสาทที่ทำให้อารมณ์คงที่ โดยเชื่อมโยงกับภาวะความผิดปกติของอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียดด้วย ดังนั้น เราควรลดปริมาณอาหารกระป๋อง พยายามทานอาหารสด หรือหลีกเลี่ยงการทำอาหารในภาชนะพลาสติก
ไดเอตโซดา
พวกน้ำอัดลมอาจจะระงับความความเครียดของคุณได้ แต่อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะในน้ำอัดลมแบบไดเอตส่วนใหญ่พบว่ามี แอสปาร์เทม ซึ่งเป็นสารให้ความหวานเทียม และมักจะขัดขวางการผลิตสารสื่อประสาท “เซโรโทนิน” อาจทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทได้ทุกรูปแบบ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน และ แม้กระทั่งความเครียด ดังนั้นถ้าอยากได้อะไรหวานๆ ควรหาทางเลือกที่ดีกว่านี้ อย่างน้ำผึ้ง
อาหารปลอดไขมัน
อาหารสำหรับคนรักสุขภาพ แต่ก็อาจทำให้เครียดได้ รู้จักกันดีในชื่อของ Fat-Free Food ซึ่งโดยปกติแล้วอาหารเหล่านี้จะไม่มีน้ำตาลกลูโคสผสมอยู่เลย ซึ่งกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีผลต่อระบบอารมณ์ อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อย และเครียดได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จน เครียด กินเหล้า คือวลีที่เรามักจะได้ยินอยู่เป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ เบียร์ หรือเหล้า สักแก้ว สองแก้ว นิดๆ หน่อยๆ ก็อาจจะให้เราช่วยลดความเครียดได้ชั่วคราว โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจัดเป็นสิ่งเสพย์ติดประเภทกดระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่เราดื่มมากเกินไปก็สามารถทำให้เราวิตกกังวล และยังสามารถลดระดับของเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ดี จนทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้น รวมไปถึงอาการเมาค้าง ก็นำมาซึ่งความเครียดนั่นเอง
อาหารทอดและฟาสต์ฟู้ด
อาหารทอดมีไขมันที่สูง และมีไฟเบอร์ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสองประการที่ทำให้การย่อยอาหารช้าลง ทำให้สารอาหารและพลังงานที่ควรจะได้รับในทันทีนั้นช้าลงไปด้วย โดยการบริโภคอาหารที่มีไขมันบ่อยๆ หรือมากเกินไป อาจจะส่งผลเสียต่อระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย นอกจากนี้ยังให้รู้สึกอิ่มมากเกินไป ในบางกรณี อาจทำให้เราหมดแรง หรือ รู้สึกเฉื่อยชา ไม่ค่อยอยากทำอะไร และทำให้เกิดความเครียดตามมา ดังนั้นแทนที่จะซื้อหรือทำอาหารทอด ควรเปลี่ยนมาใช้วิธีการปรุงอาหารในรูปแบบอื่น ๆ บ้าง ไม่ว่าจะผัด ต้มหรือย่าง อย่ากินแต่อาหารทอดติดต่อกัน หรือมากเกินไป
สุดท้ายนี้ ไม่ใช่ว่าคุณจะทานอาหารที่เรากล่าวมาไม่ได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่ปริมาณการกิน หากกินเยอะเกินไป ไม่ว่าอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น ดังนั้นลดปริมาณลงบ้าง หรือปรับบาลานซ์ และทานอย่างสมดุล เพื่อเลี่ยงและลดความเสี่ยงในเรื่องของอารมณ์แปรปรวน และสุขภาพจิต ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะรับมือกับความเครียดได้อย่างไรบ้าง
วิธีคลายเครียดเบื้องต้น
- ปรับเปลี่ยนความคิด เพราะการจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเครียดได้โดยไม่รู้ตัวได้
- ผ่อนคลายด้วยงานอดิเรก หาแอคทิวิตี้ทำนอกจากการทำงาน หรือสิ่งที่ทำให้เราเครียด อย่างเช่น เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ
- นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองให้สมองโฟกัสไปที่สิ่งอื่นนอกจากความเครียดดูค่ะ
- ออกกำลังกาย เพื่อให้ฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนทำงานบ้าง ไม่ต้องออกกำลังกายหนักๆ ก็ได้ เพียงแค่เดิน สัก 10 นาที ยืดเส้น ยืดสาย ให้ร่างได้หันเหไปจากความเครียดบ้าง ก็ดีไม่น้อย
- เปลี่ยนวิธีการกิน แน่นอนว่าอาหารบางอย่างทำให้เครียด การกินเยอะเองก็ชวนเครียดได้เหมือนกัน ยิ่งน้ำหนักขึ้น ยิ่งเครียด ดังนั้นเปลี่ยนวิธีการกินให้บาลานซ์ เท่านี้ก็ไม่เครียดแล้ว
- นอนให้เพียงพอ สังเกตได้เลยว่าใครที่นอนไม่พอ ก็จะปวดหัว และเครียดนั่นเอง