ลดน้ำหนักไม่ลง เพราะ 3 ฮอร์โมนนี้รึเปล่า?!
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า คนอื่นเขาคุมอาหารกันได้ดูชิลๆ แต่ทำไม๊ทำไม เราถึงชอบตบะแตกอยู่บ่อยๆ อย่าพึ่งท้อใจว่าตัวเราใจแข็งไม่พอ แต่ตัวการที่แท้จริงอาจจะเป็นฮอร์โมนของเราก็ได้! โดยเฉพาะกับใครที่ชอบนอนดึก พักผ่อนน้อย บอกเลยว่านี่แหละต้นเหตุแห่งภาวะฮอร์โมนแปรปรวน และจะทำให้เราอ้วนแบบลดไม่ลงสักที!!
ทำไมฮอร์โมนถึงส่งผลต่อความอ้วนได้?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ฮอร์โมนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของเรา ซึ่งก็มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบการเผาผลาญ ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร กระบวนการสะสมไขมัน และอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวของเราทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เกิดภาวะไม่สมดุล หรือที่เขาชอบพูดกันว่าฮอร์โมนแปรปรวน ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอ้วนได้นั่นเอง
ฮอร์โมนความหิว
เกรลิน (Ghrelin) เป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมา เพื่อช่วยกระตุ้นความหิว ทำให้เรารู้สึกอยากกินอาหารต่างๆ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกรลินหลั่งออกมากเป็นพิเศษก็คือ ภาวะอารมณ์ที่เรารู้สึกวิตกกังวล หรือในเวลาที่เราทำงานหนัก นอนดึกหรือพักผ่อนน้อย ใครที่เคยสงสัยว่าทำไมตัวเองรู้สึกอยากกินนู่นนี่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ก็กินอิ่มตามมื้อปกติไปแล้ว บอกเลยว่าเกรลินนี่แหละคือตัวการ!
ฮอร์โมนความเครียด
คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเรารู้สึกเครียดมากๆ จนร่างกายรู้สึกว่าต้องต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูตัวเอง ฮอร์โมนตัวนี้จึงไปกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกอยากกินอาหารพลังงานสูงอย่างอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และของมันๆ เพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ที่บางครั้งก็เกินพิกัดจนกลายเป็นอ้วน
ฮอร์โมนความอิ่ม
เลปติน (Leptin) ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งฟังดูเหมือนจะดีใช่ไหมล่ะ แต่ปัญหามันจะเกิดเมื่อเวลาที่เราพักผ่อนน้อย ร่างกายเราเกิดภาวะต่อต้านฮอร์โมนเลปติน กลายเป็นเราจะรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา และกินเท่าไรก็ไม่อิ่มสักที ตามมาด้วยน้ำหนักที่ขึ้นไม่หยุด ฉุดไม่อยู่นั่นเอง
ฮอร์โมนเจริญเติบโต
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เกี่ยวอะไรกับความอ้วน? ต้องบอกว่า นอกจากโกรทฮอร์โมนจะทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเผาผลาญไขมันของร่างกาย ดังนั้นหากนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ระบบเผาผลาญของร่างกายก็จะทำงานช้าลง ทำให้อ้วนง่ายขึ้น
ทำยังไงไม่ให้ฮอร์โมนทำเราอ้วน?
นอกจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว เราจะต้องอย่าลืมปรับพฤติกรรมบางอย่าง ที่ส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย อย่างการเผาผลาญ ความอยากอาหาร หรืออื่นๆ เป็นไปตามปกติ และเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยในการคุมน้ำหนักได้ดี
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรอดนอนติดต่อกันหลายวัน
- ผ่อนคลายความเครียดบ้าง หากิจกรรมที่เป็นตัวช่วยให้จิตใจสงบ เช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง หรือทำงานอดิเรก
- เลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีน กากใยอาหาร และหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันและน้ำตาล