How toParaben สารกันบูดในเมคอัพที่ควรทำความเข้าใจให้ดี - Beauty See First

Paraben สารกันบูดในเมคอัพที่ควรทำความเข้าใจให้ดี – Beauty See First

Paraben สารกันบูดในเมคอัพที่ควรทำความเข้าใจให้ดี

สารกันเสียที่ชื่อ สารพาราเบนส์ อันตรายหรือไม่? - derma-innovation

คงเคยได้ยินว่า ไม่ใช่ทุกผลิตภัณฑ์ความงามจะดีต่อผิวเราไปซ่ะหมด แต่มีแค่ตัวไหนดีกว่าตัวไหนเท่านั้นอีก เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของสภาพผิวที่เปลี่ยนไปตามฮอร์โมน พันธุกรรม และไลฟ์สไตล์แต่ละคน รวมถึงส่วนผสมที่ต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์อีกด้วย ซึ่งตัวส่วนผสมนี่แหละคือสิ่งที่เราสามารถเลือกให้ตัวเองได้

ถ้าตามหลักแพทย์ผิวหนังจะมีประเด็นหรือส่วนผสมยิบย่อยมากที่ควรระมัดระวังหรือไม่ควรใช้เลย แต่ในฐานะผู้บริโภค เราควรรู้ข้อมูลพื้นฐานของส่วนผสมที่ได้ยินบ่อยๆ และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และอาจมีผลต่อร่างกายได้หากได้รับปริมาณที่มากเกิน ครั้งนี้เราจึงจะมาพูดถึงตัวพาราเบน (Paraben) ส่วนผสมที่มีเกือบทุกผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน

ปราศจากพาราเบน” คำพูดที่คุ้นหู แต่ไม่คุ้นความหมาย

หลายคนเข้าใจผิดว่าพาราเบนคือชื่อ แบคทีเรียชนิดหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วพาราเบนคือ สารกันบูดชนิดแรกที่ถูกขนานนามตั้งแต่ปี 1950 เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในการทำหน้าที่ป้องกันพวกเชื้อราและแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้นในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ได้

การศึกษาที่ยังคลุมเครือว่า พาราเบนอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง

เคยมีการศึกษาว่า พาราเบนจะซึมสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง และยังมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงชื่อว่า เอสโตรเจน (ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง) โดยการเลียนแบบผลเสมือนฮอร์โมน ทำให้เกิดการผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินจนอาจไปกระตุ้นการแบ่งเซลล์ของเต้านมได้

และในปี 2004 ยังเคยมีการศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเพศหญิง 20 คน ในจำนวน 19 คน พบสารพาราเบน 5 ชนิดตกค้างในเนื้อเยื่อเต้านม แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม เพียงแค่เป็นข้อมูลว่า สามารถซึมลงสู่ผิว และค้างอยู่ในนั้นได้

แต่จากการศึกษาพาราเบนอีกครั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมหาวิทยาลัย UC of Davis โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะในกลุ่มของผู้ใหญ่และเด็ก 183 คน พบสารพาราเบนสูงถึง 70 – 100% ขึ้นอยู่กับการได้รับของสารนี้ในแต่ละคน และพบในกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมมากกว่าเกือบ 2 เท่า แต่ก็แอบมีข่าวดีว่า สารพาราเบนนี้สามารถย่อยสลายและกำจัดออกจากในร่างกายได้ค่อนข้างรวดเร็ว

ทั้งนี้ยังมีการศึกษาอีกมากมายจนถึงแท่นว่าพาราเบนเป็นสารกันบูดที่ได้รับการวิจัยมากที่สุด แต่งานวิจัยจะออกมาเผยแพร่และยึดถือข้อมูลอย่างแน่ชัดได้นั้น จะต้องมีการตอบคำถามในข้อสงสัยของนักวิจัยต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล พาราเบนจึงถือเป็นเรื่องที่ยังคงค้นหาคำตอบในทุกข้อกังขากันอยู่ และปัจจุบันในปี 2020 ทางมหาวิทยาลัย Massachusetts Amherst ก็กำลังวิจัยเรื่องมะเร็งเต้านมกับในกลุ่มหญิงสาว โดยพาราเบนคือหนึ่งในปัจจัยที่ถูกหยิบยกมาวิจัยด้วยเช่นกัน

พาราเบนอนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุม

พาราเบน นอกเหนือจากส่วนใหญ่จะผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ความงามพื้นฐาน อย่าง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม, สกินแคร์ และเมคอัพ ยังผสมอยู่ในอาหารบางชนิดที่อยู่ในแพ็คเกจจิ้งและต้องการคงความสด เช่น เยลลี่, ขนมอบ, แยม, เครื่องดื่ม ฯลฯ แต่ปริมาณจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทาง อย. เพราะพาราเบนถือเป็นสารที่อนุญาติให้ใช้ได้ ซึ่งในไทยได้มีการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2560 โดยเราขอตัดเฉพาะเรื่องกลุ่มสารพาราเบน ดังนี้

“สารกลุ่มพาราเบน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ สารพาราเบนที่มีความเสี่ยงสูงอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สารไอโซโพรพิลพาราเบน (Isopropylparaben), ไอโซบิวทิลพาราเบน (Isobutylparaben), ฟีนิลพาราเบน (Phenylparaben), เบนซิลพาราเบน (Benzylparaben) และเพนทิลพาราเบน (Pentylparaben) ซึ่งได้ถูกจัดให้เป็นสารห้ามใช้ ในเครื่องสำอางแล้ว และสารพาราเบนตัวอื่น ๆ ที่จัดเป็นสารกันเสียตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ได้ตามปริมาณและเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น”

จึงนิยมเลือกใช้สารพาราเบน 3 ชนิดโดยเฉพาะในเมคอัพและแชมพูคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben), โพรพิลพาราเบน (Propylparaben) และ บิวทิลพาราเบน (Butylparaben) ในเปอร์เซนต์ที่ต่ำมากและสามารถใช่ร่วมกันได้ จึงอาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดอันตรายอย่างที่หลายคนกังวล

สรุปว่า พาราเบนจะอยู่หรือจะไป อาจขึ้นอยู่กับการเลือกผลิตภัณฑ์ของทุกคน

จะเห็นได้ว่า จากการศึกษาข้อมูลทั้งในไทยและต่างประเทศเอง ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่นอนว่า แท้จริงแล้วพาราเบนมีผลต่อร่างกายขนาดไหน หรือสารนี้ก็คือปุ๋ยที่กำลังเพาะอะไรบางอย่างในร่างกายรึเปล่า? พาราเบนจึงถือว่าเป็นสารกันบูดที่ยังคงใช้ได้ต่อไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก สิ่งสำคัญเลยคือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จะต้องตรวจสอบฉลากที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกใช้ ว่าเป็นสินค้าที่ได้รับการควบคุมจากองค์การอาหารและยาหรือไม่  โดยอีกทางเลือกคือการหันไปใช้พวกผลิตภัณฑ์รักโลกที่เขียนว่าปราศจากพาราเบนแทน โดยเฉพาะในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือแม้กระทั่งผู้ที่เลือกสินค้าและอาหารให้เด็กและคนชรา เพราะแบรนด์เหล่านี้ก็มักจะเลือกใช้สารอื่นๆ จากธรรมชาตินำมาสกัดเพื่อเทียบเคียงกับตัวพาราเบนแทนและยังมีประสิทธิภาพอีกด้วย และการหันไปบริโภคอาหารปรุงสดใหม่มากกว่าการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูด เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจนั่นเอง

Credit Source: webmd.com, cdc.gov, oryor.com และ news-medical.net

บทความที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาใหม่ล่าสุด

More article