วัสดุเสริมจมูกแบบสังเคราะห์ ซิลิโคนและกอร์เท็กซ์
อยากทำจมูกทั้งที เราก็คงอยากได้จมูกที่สวยและอยู่กับเราไปได้นานๆ ใช่ไหมคะ? นอกจากสกิลของคุณหมอที่มีผลมากต่อดั้งใหม่ของเราแล้ว การเลือกวัสดุในการเสริมจมูก ก็เป็นอีกประเด็นที่ควรให้ความสนใจไม่น้อยเลยล่ะค่ะ โดยวัสดุที่เราจะนำมาเปรียบเทียบกันในวันนี้ ก็คือวัสดุยอดนิยมอย่างซิลิโคน ที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความโด่งพุ่ง และวัสดุเสริมจมูกชื่อไม่คุ้นหู แต่คุณสมบัติน่าสนใจอย่าง “กอร์เท็กซ์” สำหรับคนที่กังวลเรื่องการเกิดพังผืด
วัสดุที่ใช้ในการเสริมจมูก
สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่หลักๆ ได้ 3 แบบ คือ
- วัสดุจากร่างกายของเรา เช่น กระดูกอ่อนใบหู ไขมันจากหน้าท้อง ต้นขา
- วัสดุจากร่างกายผู้อื่น เช่น เนื้อเยื่อเทียม กระดูกอ่อนซี่โครงฉายรังสี
- วัสดุสังเคราะห์ เช่น ซิลิโคน กอร์เท็กซ์
ซึ่งครั้งนี้เราจะมาพูดถึงวัสดุจากกลุ่มวัสดุสังเคราะห์กัน สำหรับใครหลายๆ คนน่าจะมีความคุ้นเคยหรือรู้จักกับซิลิโคนมาบ้างแล้ว แต่สำหรับวัสดุชื่อแปลก ไม่คุ้นหูอย่างกอร์เท็กซ์ล่ะ คืออะไรกันนะ?
คุณหมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ได้อธิบายเกี่ยวกับเจ้าวัสดุชนิดนี้เอาไว้ว่า เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ผลิตมาจาก Polytetrafluoroethylene หรือ PTFE โดยคุณสมบัติสำคัญของกอร์เท็กซ์ คือการมีรูพรุนขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 10-30 ไมครอน ซึ่งเจ้ารูพรุนพวกนี้ จะทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายสามารถแทรกเข้าไปได้ กอร์เท็กซ์จึงยึดติดไปกับเนื้อเยื่อร่างกายได้ดีและไม่ทำให้เกิดการสร้างพังผืด หรือ capsule ขึ้นมาล้อมรอบ ส่งผลให้โอกาสการเกิดหินปูนเกาะน้อยลงด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กอร์เท็กซ์ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน คือเรื่องของการยุบตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระยะ 1-1 ปีครึ่ง และเพราะมีการยึดติดกับร่างกายได้ดีดังนั้นหากเกิดปัญหาอะไร ที่จำเป็นต้องนำกอร์เท็กซ์ออก จะสามารถทำได้ค่อนข้างยาก
กอร์เท็กซ์ทำให้ได้จมูกที่เป็นธรรมชาติกว่าจริงไหม?
คุณหมอโฮปพูดถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า การที่จมูกจะดูเป็นธรรมชาติหรือไม่นั้น ไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ แต่จะขึ้นอยู่กับรูปร่างและการเหลาวัสดุที่ใส่เข้าไปมากกว่า ดังนั้นการเลือกใช้ซิลิโคนหรือกอร์เท็กซ์จึงไม่ได้มีความแตกต่างกันในจุดนี้ แต่ต่างก็มีข้อมีและข้อเสียในตัวเอง อย่างซิลิโคนจะคงรูปได้ดี ถอดออกง่าย แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องของพังผืดหดรั้งและหินปูนได้ ในขณะที่กอร์เท็กซ์จะลดโอกาสการเกิดปัญหาเรื่องพังผืดลง แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการยุบตัวและถอดออกยาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์